สถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่น

1. ปราสาทหินศีขรภูมิ 

ปราสาทเก่าแก่แห่งเมืองสุรินทร์ที่ต้องไม่พลาดมาชมความงามกันสักครั้ง
สันนิษฐานจากลวดลายที่เสาและทับหลังของปรางค์ประธานและปรางค์บริวารทั้ง 4 องค์ว่าสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1550 – 1700 มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างศิลปะขอมแบบปาปวนและแบบนครวัด เพื่อใช้เป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย และต่อมามีการดัดแปลงให้เป็นวัดในพุทธศาสนาตาม ที่มีหลักฐานการบูรณะปฏิสังขรณ์ในราวพุทธศตวรรษที่ 22 – 23
ในสมัยอยุธยาตอนปลายปราสาทศีขรภูมิสร้างด้วยอิฐ หิน ทราย และศิลาแลง ประกอบด้วยปรางค์ก่ออิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยมีปรางค์ประธานตั้งอยู่ตรงกลาง
ปรางค์ประธานมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม่มีมุข มีประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว ทับหลังประตูจำหลักเป็นภาพศิวนาฏราชบนแท่น มีหงส์แบก 3 ตัว อยู่เหนือเศียรเกียรติมุข มีภาพพระพิฆเณศ พระพรหม พระวิษณุ และนางบรรพตี (พระอุมา) อยู่ด้านล่างเสาประตูสลักเป็นลวดลายเทพธิดา ลายก้ามปู และรูปทวารบาล บริเวณหน้าบันเป็นอิฐประดับลวดลายปูนปั้นและมีปรางค์บริวาร 4 องค์ ล้อมอยู่ทั้ง 4 ทิศ ล้อมรอบด้วยสระน้ำ 3 สระ

ที่ตั้ง : ต.ระแงง อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ปราสาทหินศีขรภูมิ






2. ด่านการค้าช่องจอม  

ช่องจอมเป็นเส้นทางข้ามแดนที่ใหญ่และสะดวกที่สุดของจังหวัดสุรินทร์ที่จะไปยังกัมพูชา โดยฝั่งตรงข้ามด้านกัมพูชาเป็นชุมชนโอร์เสม็ด อำเภอสำโรง จังหวัดอุดรมีชัย ทำให้ด่านการค้าช่องจอมมีการติดต่อสัญจรไปมาและซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชาวไทยและกัมพูชามาเป็นเวลานาน จึงมีการเปิดตลาดแห่งนี้เพื่อให้ประชาชนทั้งสองประเทศได้ค้าขายและสัญจรไปมาทุกวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น
สินค้าที่วางจำหน่ายมีหลายประเภทมีทั้งสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เครื่องแต่งกาย ของป่า และสิ่งประดิษฐ์จากไม้ เช่น ม้านั่ง หัตถกรรมไม้ เสื่อสาน ตะกร้าสานต่าง ๆ เครื่องโลหะ เครื่องทองเหลืองและภาชนะ  กระเป๋าสะพาย เขี้ยวหมู เขี้ยวสัตว์ป่า และเขาของสัตว์ป่า

ที่ตั้ง : บ้านด่านพัฒนา ต.ด่าน  อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์



รูปภาพที่เกี่ยวข้อง


3. ผ้าไหมยกทองโบราณบ้านท่าสว่าง

ผ้าไหมยกทองโบราณบ้านท่าสว่างเป็นสินค้าประจำจังหวัดชื่อดังของสุรินทร์ มีการสนับสนุนและมีหมู่บ้าน “กลุ่มทอผ้ายกทอง จันทร์โสมา” ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการทอผ้าในระดับประเทศ บ้านท่าสว่างได้รับการสนับสนุนจากสำนักพระราชวัง และมูลนิธิในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ จนได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ทอผ้าไหมมอบให้กับผู้นำเอเปค เมื่อปี พ.ศ. 2546 บ้านท่าสว่างจึงเป็นที่รู้จักนับแต่นั้น
หมู่บ้านกลุ่มทอผ้ายกทอง ท่าสว่างเป็นหมู่บ้านอาคารเรือนไทยหลายหลังในอันร่มรื่น ที่นี่มีทั้งส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ของสะสมของท่านอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย แกนนำกลุ่มผ้าทอจันทร์โสมา ที่มีจุดเด่นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ
โดยการนำใยไหมเส้นเล็กละเอียด (ไหมน้อย) มาย้อมสีธรรมชาติ ด้วยเทคนิคโบราณผสานกับการออกแบบลวดลายที่วิจิตรเหมือนในอดีต เช่น ลายเทพพนม ลายหิ่งห้อยชมสวน ลายก้านขดเต้นรำ ลายครุฑยุดนาค ฯลฯ ผสานกับลายผ้าพื้นเมืองสุรินทร์ คือ ลายอัมปรม ลายสาคู ลายสมอ ลายละเบิก ลายลูกแก้ว มีการใช้เส้นไหมกะไหล่ทองปั่นควบกับเส้นไหม ถักทอเป็นผ้าไหมอันวิจิตรงดงาม

ที่ตั้ง : กลุ่มผ้าไหมยกทองโบราณบ้านท่าสว่าง  ต.ท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์



ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ผ้าไหมยกทองโบราณบ้านท่าสว่าง

4.หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง

หมู่บ้านช้างตั้งอยู่บ้านตากลาง เป็นพื้นที่นาและป่าละเมาะสลับกับป่าโปร่งเหมาะแก่การเลี้ยงช้าง ชาวบ้านตากลางดั้งเดิมเป็นชาวส่วยหรือกูยหรือกวยมีความชำนาญในการคล้องช้างป่า ฝึกหัดและเลี้ยงช้าง
ปัจจุบันชาวบ้านตากลางยังคงเลี้ยงช้างและฝึกช้างเพื่อไปร่วมแสดงในงานช้างของจังหวัดทุกปีการเลี้ยงช้างของชาวบ้านตากลาง ไม่เหมือนการเลี้ยงช้างของที่อื่นที่เลี้ยงไว้ใช้งาน แต่เลี้ยงช้างไว้เป็นเพื่อน นอนร่วมชายคาเดียวกัน นักท่องเที่ยวจึงจะได้เห็นทั้งโรงช้างไปพร้อม ๆ กับการดำรงชีวิตของชาวส่วย
ที่นี่มีทัศนียภาพที่งดงาม น่าพักผ่อนนอกจากนี้ทางจังหวัดยังได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างขึ้นภายในหมู่บ้านด้วย เพื่อรวบรวมประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับช้าง อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการคล้องช้าง และให้ความรู้ในเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับช้าง
พร้อมทั้งยังมีการแสดงช้างสำหรับนักท่องเที่ยว มีบริการนั่งหลังช้างชมหมู่บ้าน และโฮมสเตย์สำหรับผู้ต้องการค้างแรมและเรียนรู้วิถีชีวิตคนกับช้าง

ที่ตั้ง : บ้านตากลาง อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง


5.ปราสาทหินบ้านพลวง

เป็นสถาปัตยกรรมสมัยลพบุรี ราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 17ฐานก่อด้วยอิฐศิลาแลง ยกพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวจากทางทิศเหนือไปทิศใต้ประมาณ 23 เมตร กว้างประมาณ 8 เมตร ทิศตะวันออกเป็นชานยื่นยาวประมาณ 8 เมตร กว้าง 6 เมตร ตัวปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย เป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม ซึ่งแต่เดิมทรุดพังลงมา 3 ด้าน คงเหลือแต่ทางด้านทิศตะวันออก
ทับหลังประตูจำหลักเป็นรูปเทวดาขี่ช้างยืนบนแท่น เหนือเศียรเกียรติมุข มือทั้งสองจับพวงมาลัย ริมขอบข้างบนจำหลักเป็นรูปโยคีนั่งขัดสมาธิราบเรียงกันเป็นแถว 6 องค์  หน้าบันจำหลักเป็นรูปพระกฤษณะยืนอยู่บนเศียรเกียรติมุข มือซ้ายเท้าสะเอว  มือขวายกถูเขาวรรธนะ (ชื่อภูเขาในอินเดีย)
ส่วนยอดปราสาทโดยทั่วไปจะก่อสร้างด้วยหินทรายซึ่งจะมีสภาพคงทน ต่างจากสภาพอิฐเผาซึ่งผุพังทรุดโทรมง่าย สันนิษฐานว่าอาจเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถสร้างเสร็จสมบูรณ์ได้ จึงก่อสร้างด้านบนปราสาทด้วยอิฐเผาและจำหลักลวดลายต่าง ๆ ค้างไว้ แต่ก็เป็นปราสาทหินที่สวยงามมากแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ด้านหน้าปราสาทมีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ 1 แห่ง

ที่ตั้ง : ต.บ้านพลวง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์




ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ปราสาทหินบ้านพลวง

6. ปราสาทตาเมือน

ปราสาทตาเมือนจัดอยู่ในโบราณสถาน “กลุ่มปราสาทตาเมือน” คือ เป็นโบราณสถานสถานแบบขอม 3 หลังที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน โดยอยู่ติดแนวชายแดนประเทศไทยและกัมพูชา ปราสาทตาเมือนเป็นสิ่งก่อสร้างที่เชื่อกันว่าคือที่พักคนเดินทางแห่ง 1 ใน 17 แห่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายแห่งเมืองพระนครโปรดฯ ให้สร้างขึ้นจากเมืองยโสธรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรขอมโบราณไปยังเมืองพิมาย
ปราสาทตาเมือนสร้างด้วยศิลาแลง เช่นเดียวกับโบราณสถานสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่พบในดินแดนประเทศไทย ตัวปราสาทมีลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมตั้งตรง เป็นปรางค์เดียวมีห้องยาวเชื่อมต่อมาทางด้านหน้าผนังด้านหนึ่งปิดทึบ แต่ได้สลักเป็นหน้าต่างหลอกเอาไว้ ส่วนอีกด้านมีหน้าต่างเรียงกันโดยตลอด เคยมีผู้พบทับหลังเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้วจำนวน 2-3 ชิ้น

ที่ตั้ง : ปราสาทตาเมือน บ้านหนองคันนา ต.ตาเมียง กิ่งอำเภอพนมดงรัก จ.สุรินทร์



ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ปราสาทตาเมือน


7. ปราสาทตาเมือนโต๊ด

ปราสาทตาเมือนโต๊ดเป็นหนึ่งในปราสาทที่จัดอยู่ในโบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน
ปราสาทตาเมือนโต๊ดเป็นอโรคยศาล สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อโรคยศาลแห่งนี้ยังคงสภาพเกือบจะสมบูรณ์ ประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขยืนทางด้านหน้าเยื้องไปทางขวาขององค์ปรางค์ล้อมรอบด้วยกำแพงก่อด้วยศิลาแลงเช่นกัน มีซุ้มประตู (โคปุระ) อยู่ทางด้านหน้าคือ
ด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ทางนอกกำแพงด้านหน้าของปราสาทมีสระน้ำเช่นเดียวกับอโรคยศาลแห่งอื่นๆตรงห้องกลางของโคปุระได้พบศิลาจารึก 1 หลัก จารึกด้วยอักษรขอมภาษาสันสกฤต เป็นจารึกซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างไว้ประจำอโรคยศาลแห่งนี้ มีข้อความเช่นเดียวกับจารึกที่พบที่อโรคยศาลแห่งอื่นๆ คือ
กล่าวนมัสการพระพุทธเจ้า พระไภษัชยคุรุไวฑูรยะ ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ประทานความไม่มีโรคแก่ประชาชนผู้นับถือ และกล่าวถึงการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำสถานพยาบาลในแผนกต่างๆ ปัจจุบันหลักนี้เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี
ที่ตั้ง : ปราสาทตาเมือนโต๊ด บ้านหนองคันนา ต.ตาเมียง กิ่งอำเภอพนมดงรัก จ.สุรินทร์
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ปราสาทตาเมือนโต๊ด


8. ปราสาทตาเมือนธม

ปราสาทตาเมือนธมเป็นหนึ่งในปราสาทที่จัดอยู่ในโบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มปราสาทตาเมือน และมีการสันนิษฐานว่าปราสาทตาเมือนได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ และคงจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งเก่าแก่กว่าโบราณสถานอีก 2 แห่งในกลุ่มปราสาทตาเมือน
ปราสาทตาเมือนธมตั้งอยู่ถัดจากปราสาทตาเมือนโต๊ดไปทางทิศใต้ประมาณ 200 เมตร ปราสาทตาเมือนธมตั้งอยู่บนแนวเทือกเขาบรรทัดซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชาปราสาทตาเมือนธมประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ โดยมีปรางค์ประธานซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ตรงกลาง ส่วนปรางค์อีกสององค์อยู่ถัดไปด้านหลังทางด้านขวาและด้านซ้ายของปรางค์
ประธานปรางค์ทั้ง 3 องค์ สร้างด้วยหินทราย ที่ปรางค์ประธานมีลวดลายจำหลักงดงาม ทางด้านตะวันออกและตะวันตกมีวิหาร 2 หลัง สร้างด้วยศิลาแลง มีระเบียงคดซึ่งสร้างด้วยหินทรายล้อมรอบ มีโคปุระทั้ง 4 ด้าน มีบันไดทางขึ้นจากเชิงเขาที่โคปุระด้านใต้นอกระเบียงคดทางด้านทิศเหนือมีสระน้ำ
ที่ตั้ง : ปราสาทตาเมือนธม บ้านหนองคันนา ต.ตาเมียง กิ่งอำเภอพนมดงรัก จ.สุรินทร์


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ปราสาทตาเมือนธม

9.ศาลหลักเมืองสุรินทร์ 

ศาลหลักเมืองสุรินทร์เดิมเป็นศาลที่ยังไม่มีเสาหลักเมืองแต่มีความศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนทั่วไปมาเป็นเวลานานนับ 100 ปี
ครั้น พ.ศ. 2511 จังหวัดสุรินทร์ได้ดำเนินการขอให้กรมศิลปากรออกแบบแปลนก่อสร้างตัวศาลหลักเมืองเสาหลักเมืองทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ มีความสูง 3 เมตรวัดรอบได้ 1 เมตรแกะสลักตกแต่งด้วยเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีเจิมเสาหลักเมือง ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
ต่อมาจังหวัดสุรินทร์ได้มีการบูรณะปรับปรุงรูปแบบศาลหลักเมืองโดยการผสมผสานระหว่างศิลปะแบบเขมรและศิลปะแบบไทยเข้าด้วยกัน ทำให้ศาลหลักเมืองมีความสวยงามและใหญ่โตอลังการ
ทั้งนี้ในอดีตเคยมีเหตุการณ์มหัศจรรย์เกิดขึ้นที่บริเวณศาลหลักเมืองเมื่อเกิดรอยแยกบนพื้นถนนทำให้มีการขุดลงไปพบพระพุทธรูปนาคปรกและวัตถุโบราณ เช่น พระเครื่องดินเผาและกำไลโบราณจำนวนมาก รวมถึงเครื่องปั้นภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุราว 1,500 – 2,000 ปี ชาวบ้านจึงได้นำไปบูชาที่ศาลหลักเมือง

ที่ตั้ง : ถ. เทศบาล 3 ต.ในเมือง อ.เมืองจ.สุรินทร์

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง


10. หมู่บ้านเครื่องเงินเขวาสินรินทร์

“กลุ่มหัตถกรรมเครื่องเงินบ้านโชค” เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทอผ้าไหมพื้นเมืองที่เรียกว่าผ้าโฮล และการผลิตลูกประคำเงินที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านเรียกกันว่าลูกปะเกือม
งานหัตถกรรมเครื่องเงินของหมู่บ้านเครื่องเงินเขวาสินรินทร์มีความโดดเด่นในเรื่องของการคงเอกลักษณ์กรรมวิธีโบราณผสานกับการทำประเกือมหรือประคำในภาษากลาง ด้วยวัตถุดิบเงินประมาณ 60% ผ่านการประดิษฐ์ลวดลายต่างๆ จำนวน 13 ลาย คือ ขจร มะลิ ดอกปลึด 3 ชั้น เอกปลึด ตังโอ๋  ตังโอ 3 ชั้นระเวยิ่ง  ทานตะวัน รวงผึ้ง  รังแตน รำหอกโปรง และลายรำหอกซึ่งทำยากที่สุด เนื่องจากเป็นลายที่มีความสลับซับซ้อนและมีราคาสูง ในขณะที่ลายไข่แมงดารับสั่งทำบ่อยที่สุด เพราะลวดลายสวยงาม
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ภายในหมู่บ้านเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ยังมีการนำลูกปะเกือมมาทำเป็นเครื่องประดับของสุภาพสตรีที่สวยงาม เช่น กำไลข้อมือ สร้อยประคำ ต่างหู แหวน พร้อมเพิ่มความหลากหลายของสินค้าด้วยการผสมกับวัสดุชนิดอื่น เช่น มุก นิล ลูกปัดหิน จนกลายเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์และมีร้านค้าจำหน่ายสินค้าที่ระลึก

ที่ตั้ง :  ต.เขวาสินรินทร์  อ.เขวาสินรินทร์  จ.สุรินทร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น